ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ชายที่ชอบใช้งานคอมพิวเตอร์พกพา (แล็ปท็อป) บนหน้าตักมีความเสี่ยงทำให้อสุจิของชายผู้นั้นด้อยคุณภาพลง ผลจากอุณหภูมิเครื่องคอมพ์ที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการเก็บรักษาและผลิตอสุจิในถุงอัณฑะ โดยพบว่าแผ่นรองโน้ตบุ๊กที่ถูกโฆษณาว่าสามารถลดความร้อนในเครื่องก็ไม่ช่วยให้ความเสี่ยงลดลง
ดร.เยลิม เชนกิน (Yelim Sheynkin) ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก วิทยาเขตสโตนนีบรูก สรุปความในวารสาร Fertility and Sterility ว่า
ชายทั่วโลกหลายล้านคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปในขณะนี้กำลังมีปัญหามีบุตรยาก เนื่องจากการใช้งานแล็ปท็อปเพียง 10-15 นาที ก็จะทำให้อุณหภูมิถุงอัณฑะของชายสูงขึ้นเกินระดับความปลอดภัย ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว
ดร.เชนกินสรุปผลการศึกษานี้โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิถุงอัณฑะของกลุ่มตัวอย่างชาย 29 คน ซึ่งแม้จะมีแผ่นรองเครื่องวางคั่นกลางระหว่างเครื่องและหน้าตัก ก็ยังพบว่ามีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินระดับความปลอดภัยหลังจากใช้งานเพียง 10-15 นาที
ดร.เชนกินให้ข้อมูลว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียง 2 องศาฟาเรนไฮต์ก็มีความเสี่ยงสร้างอันตรายกับอสุจิ โดยการศึกษาพบว่าการใช้งานแล็ปท็อปบนตักเป็นเวลา 1 ชั่วโมงจะทำให้อุณหภูมิถุงอัณฑะเพิ่มขึ้นถึง 5 องศาฟาเรนไฮต์
ความเสี่ยงจากการใช้งานคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบนตักต่ออสุจิในชายนั้นเคยเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อปี 2547 ครั้งนั้นดร.เชนกินพบว่ามีผลทำให้ปริมาณอสุจิลดลง ก่อนจะมาพบว่า แผ่นรองคอมพิวเตอร์ก็ไม่ช่วยลดความเสี่ยงในการศึกษาครั้งล่าสุด
ดร.เชนกินย้ำว่าการสวมกางเกงรัดแน่นไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อคุณภาพอสุจิ เพราะผู้สวมมีการเคลื่อนไหว แต่การนั่งใช้คอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบนตัก ขาของผู้ใช้จะนิ่งเฉยและปิดเข้าหากัน การนั่งในท่านี้นาน 1 ชั่วโมง ถุงอัณฑะจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งการใช้แผ่นรองเพื่อให้ผู้ใช้สามารถแยกขาออกจากกันได้มากขึ้น ก็ไม่ทำให้อุณหภูมิลดลง
เมื่อแผ่นรองแล็ปท็อปไม่สามารถลดความเสี่ยง ดร.เชนกินจึงแนะนำให้ชายทุกคนใช้งานคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบนโต๊ะ จึงจะปลอดภัยที่สุด
ปัจจุบัน คู่สมรสในสหรัฐฯราว 1 ใน 6 คู่กำลังประสบปัญหามีบุตรยาก โดยครึ่งหนึ่งเกิดจากฝ่ายชายเป็นหมัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานว่า หญิงที่ใช้งานแล็ปท็อปบนตักจะมีความเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุณหภูมิไม่เป็นปัจจัยอันตรายต่อการเจริญพันธุ์ในเพศหญิง
Credit :
ผู้จัดการออนไลน์อย่างบ่อยเลยผมงานเข้า