วันเพ็ญเดือนสิบสอง หรือวันลอยกระทง เป็นประเพณีที่ชาวไทยปฏิบัติสืบต่อกันมา พวกเราคงนึกถึงภาพความสนุกสนานรื่นเริง ดนตรี สุรา ดอกไม้ไฟ เเละกระทงน้อย รวมถึงนางนพมาศ
เเต่มีอีกเเง่มุมหนึ่งที่ผมอยากเสนอให้ทุกท่านได้ทราบถึง"วันเพ็ญเดือนสิบสอง" มีอะไรสำคัญบ้าง
ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงการนับเดือนทางเหนือ เค้าจะนับเร็วกว่าทางจันทรคติไปสองเดือน เช่น วันเพ็ญเดือนสิบสอง ทางเหนือจะเรียกยี่เป็ง (เป็ง = เพ็ญ ยี่ = สอง นั่นก็คือวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองในรอบปี)
วันนี้นอกจากจะเป็นวันลอยกระทงเเล้ว ยังเป็นวันออกพรรษาอีกด้วย !!!
เพราะประเพณียี่เป็ง จะมีหลังจากออกพรรษาหนึ่งเดือน ซึ่งการเข้าพรรษาก็สามารถเข้าได้ช้ากว่ากำหนดการณ์หนึ่งเดือนเช่นกัน เนื่องจากในสมัยก่อนการเดินทางลำบาก จึงมีอนุโลมให้พระเณรสามารถเข้าพรรษาทีหลังได้ เเต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนักส่วนใหญ่จะเห็นจากทางเหนือมากกว่า ดังนั้นพระที่เข้าพรรษาช้า จะต้องมาออกพรรษาในวันลอยกระทงนี่เอง
ประวัติความเป็นมาของประเพณียี่เป็ง มีความเป็นมาดังนี้ ประเพณี ลอยกระทง หรือ ลอยโขมด มีมาแต่โบราณ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนา ที่นับถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 นับตั้งแต่อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรล้านนา โดยเมื่อถึงเดือนยี่เป็งก็กระทำพิธีลอยโขมด เป็นการลอยกระทง ความหมายคือ การลอยเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม, ลอยเพื่อลอยเคราะห์ลอยบาป, ลอยเพื่อส่งสิ่งของ, ลอยเพื่อบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร และลอยเพื่อบูชาอุบคุดด์เถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ประเพณีการลอยกระทงทางภาคเหนือเรียก ประเพณียี่เป็ง ตรงกับเดือนยี่ ขึ้น 14-15 ค่ำ ประเพณีลอยกระทงทางภาคเหนือนี้ตามหนังสือพงศาวดารโยนก และหนังสือจามเทวีวงศ์ กล่าวสอดคล้องเหมือนกันว่า เมื่อจุลศักราชได้ 309 (พ.ศ.1490) พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัย สมัยนั้นได้เกิดโรคระบาดขึ้น ที่ตำนานเรียกว่า โรคหิว หรือ โรคห่า หรือ โรคอหิวาตกโรค ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บางพวกที่มีชีวิตอยู่เห็นว่าถ้าอยู่ต่อไปต้องตายแน่ จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองสุธรรมวดี คือเมืองสะเทิม ประเทศรามัญ หรือมอญ ต่อมาพระเจ้าพุกาม กษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม ได้เก็บเอากุลธิดาของชาวเมืองไปเป็นบาทบริจาติกาเป็นจำนวนมาก เมื่อเบื่อหน่ายก็ทอดทิ้งไม่ชุบเลี้ยงเหมือนดั่งก่อน พวกชาวเมืองหริภุญชัยก็อพยพหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความอนุเคราะห์ชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี หลังจากที่อาศัยอยู่ไม่นาน ชาวเมืองได้ทราบข่าวว่าโรคระบาดทางนครหริภุญชัยสงบแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ก็พากันกลับมายังหริภุญชัยอีกครั้ง บางคนต่างก็แต่งงานมีครอบครัว ก็ไม่กลับไปยังหริภุญชัย ยังคงอยู่ที่เดิมที่เมืองหงสา ครั้นถึงเดือนยี่เป็ง ที่ครบรอบที่ได้จากพี่น้องทางเมืองหงสามา ก็ได้จัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการะบูชา อาหาร เสื้อผ้า วัตถุข้าวของ ใส่ในแพไหลล่องตามแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงยังญาติพี่น้อง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะล่องลอยไปถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาอันไกลโพ้น การกระทำพิธีดังกล่าวเรียกกันว่า ลอยโขมด หรือลอยไฟ และถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (การลอยกระทงนั้น ในสมัยอาณาจักรล้านนาโบราณเรียกว่า ลอยโขมด คำว่าโขมดเป็นชื่อผีป่า เรียกกันว่าผีโขมด ชอบออกหากินเวลากลางคืน จะมีพะเนียงแสงไฟเห็นเป็นระย้าคล้ายผีกระสือ ดังนี้ กระทงที่จุดเทียนลอยน้ำ แสงไฟจะกระทบกับน้ำทำให้เกิดเงา เหมือนแสงไฟจากผีโขมด ดังนั้น ทางล้านนาโบราณจึงเรียกการลอยกระทงว่า ลอยโขมด) ในสมัยอาณาจักรล้านนาไท พุทธศักราชได้ 2061 ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) แห่งราชวงศ์มังราย เทศกาลเดือนยี่เป็งเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มาก อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันไปบูชาพระเจ้าในอารามข่วงแก้วทั้งหลาย มากมายไปด้วยผู้คนหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ รื่นเริงม่วนเล่นมหรสพสมโภชครึกครื้น เป็นที่พึงพอใจอย่างยิ่ง ประเพณีเดือนยี่เป็ง มาถึงพอเริ่มขึ้น 1 ค่ำ เดือนยี่ วัดวาอารามจะจัดเตรียมสถานที่ในวัด
ปัดกวาดพระวิหารศาลาให้สะอาด และจัดเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้
1.ทำราชวัตร รอบวิหาร เจดีย์ ทำซุ้มประตูป่าทางเข้าวัด
2.ทำโคมแขวน โคมค้าง โคมรูปต่างๆ
3.ทำว่าว หรือโคมลอย ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ โคมที่ใช้ปล่อยตอนกลางวัน เรียกว่า ว่าว โดยใช้วิธีรมควัน และโคมปล่อยตอนกลางคืน ใช้วิธีรมควันเหมือนว่าวที่ปล่อยกลางวัน แต่จะจุดไฟที่ท่อนผ้าผูกติดกับปากโคมลอยปล่อยสู่อากาศ โคมจะลอยสูงขึ้นเรื่อยๆ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยในเวหา และ
4.การทำบอกไฟ (บั้งไฟ) ประกอบด้วยบอกไฟหลายชนิด เช่น บอกไฟดอก บอกไฟดาว บอกไฟเทียน บอกไฟช้างร้อง บอกไฟจักจั่น บอกไฟท้องตั๋น บอกไฟขี้หนู ทำขึ้นเพื่อจุดในวันยี่เป็ง มีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการทำโคมลอย ทำว่าวไว้ด้วยว่า หากคนใดทำจะมีอานิสงส์ 1 กากณึก (ทรัพย์มีค่าเท่าค่าแห่งชิ้นเนื้อพอกานำไปได้ เป็นชื่อมาตราเงินต่ำที่สุด) การปล่อยโคมลอย ว่าว จุดบอกไฟนั้น เป็นการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อีกประการหนึ่งด้วย สำหรับชาวบ้านชาวเมืองจะจัดเตรียมสิ่งของ ดังนี้
1.เครื่องนุ่งหย้อง เพื่อจะไปวัดในเดือนยี่เป็ง
2.เตรียมโคมทำราวแขวนโคม เพื่อประดับบูชาหน้าบ้านเรือนตน
3.เตรียมผางผะดิ้ด (ถ้วยประทีป) ไว้เท่าอายุของคนที่อยู่ในเรือนนั้น
4.เตรียมกัณฑ์ธรรม หรือกัณฑ์เทศน์สำหรับจะนำไปถวายพระตอนฟังเทศน์ 5.เตรียมบุปผาลาจาข้าวตอกดอกไม้เพื่อใช้โปรยเวลามีงานในการฟังเทศน์มหาชาติ และใส่ขันแก้วตึงสาม
6.เตรียมอาหาร ผลไม้ ขนม สำหรับพระภิกษุสงฆ์ จัดเตรียมในวันขึ้น 15 ค่ำ ตอนเช้าตรู่ และ 7.ทำซุ้มประตูป่าแบบต่างๆ ให้เป็นที่สวยงาม ประกอบด้วย ต้นกล้วย ต้นอ้อย ก้านมะพร้าว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกรัก นำมาประดิษฐ์เป็นอุบะห้อยประตูป่า วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่เป็ง ประมาณ 06.00 น. เช้ามืด ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารไปถวายพระภิกษุสงฆ์ ที่วัดเรียกว่า ตานขันข้าว เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ตอนสายชาวบ้านจะไปที่วัดเพื่อฟังเทศนาธรรม วัดบางแห่งมักจะมีการตั้งธรรมหลวง เรียกว่า เทศน์ธรรมมหาจาติแบบพื้นเมือง จะมีการเทศน์ทั้งหมด 13 กัณฑ์ ให้เสร็จภายในวันเดียว ตอนเช้าลู่ค่ำ ชาวบ้านชาวเมืองจะพากันไปสู่ที่วัด เพื่อนำผางปะดิ้ดไปจุดบูชาพระเจ้าที่วัด จุดโคมบูชาสว่างไสวทั่วพระอาราม หลังจากจุดธูปเทียนบูชาแล้ว จะมีการจุดบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) ประเภทต่างๆ ภายในวัด โดยจุดเป็นพุทธบูชา ส่วนผู้เฒ่า ผู้แก่จะกลับไปบ้าน เพื่อจุดผางปะดิ้ดที่บ้าน บูชาพระพุทธเจ้า บูชาเจ้าที่เจ้าทาง บูชาบ่อน้ำ บูชาประตูบ้าน บูชาครัวไฟ ประตูยุ้งฉาง เทวดาประจำบ้าน ประเพณีลอยกระทงของภาคเหนือนั้น เป็นประเพณีที่ได้รับการส่งเสริมตลอดมา ส่วนประเพณียี่เป็งของจอมทองเราจะมีส่วนเิพิ่มเติมขึ้นมาอีกก็คือการจุดบูชา
ต้นเกี๊ยะซึ่งชาวบ้านจุร่วมแรงร่วมใจกันทำต้นเกี๊ยะขึ้นมา ตกแต่ให้สวยงาม เมื่อถึงตอนเย็นก็จะมีการแห่ต้นเกี๊ยะไปในบริเวณวัด จากนั้นก็จะุจุดไฟที่ต้นเกี๊ยะซึ่งดูแล้วสว่างไสวไปทั่วเพราะต้นเกี๊ยะมีจำนวนมาก ช่วงกลางคืนก็จะมีการจุดบอกไฟดอก ซึ่งสวยงามมาก