เลขบัตรประชาชนแต่ละตัวหมายถึงอะไร
ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า เลขประจำตัวประชาชนของคนไทยมี 13 หลักเท่ากันทุกคน ไม่ซ้ำกัน และไม่มีการเปลี่ยนหรือยกให้ใคร ระบบตัวเลขนี้รองรับจำนวนประชากรได้อีกมากในระดับ 100 ปี ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1548
ไทยเริ่มกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักในทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนตั้งแต่ 1 ม.ค.2527 และจัดระบบจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2547
หลักที่ 1 หมายถึง บุคคลซึ่งมีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยและได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา 15 วันตามกฎหมาย โดยเกิดตั้งแต่ 1 ม.ค.2527 เป็นต้นไป เด็กคนนั้นถือเป็นบุคคลประเภท 1 มีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1
ประเภทที่ 2 คนที่เกิดและมีสัญชาติไทยได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา เมื่อไปแจ้งภายหลังเด็กคนนั้นจะเป็นบุคคลประเภท 2 มีตัวเลขขึ้นด้วยเลข 2
ประเภทที่ 3 คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อน 31 พ.ค.2527)
ประเภทที่ 4 คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก
ประเภทที่ 5 คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่นๆ
ประเภทที่ 6 ผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขา กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภริยาคนไทยจึงไปขอทำทะเบียนประวัติ เพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภริยา คนทั้งสองแบบที่ว่านี้ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6
ประเภทที่ 7 บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7
ประเภทที่ 8 คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทยตั้งแต่หลัง 31 พ.ค.2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน
คนทั้งแปดประเภทนี้จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้นที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 15 ปี แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้
หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนหรืออำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนขณะที่ให้เลข กล่าวคือ เลขหลักที่ 2 และ 3 จะหมายถึงจังหวัดที่อยู่ ส่วนหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงเขตหรืออำเภอในจังหวัดนั้นๆ
หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 หมายถึงกลุ่มของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก ซึ่งทางสำนักทะเบียนในแต่ละแห่งก็จะจัดกลุ่มเรียงไปตามลำดับหรือหากเป็นเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันเลขดังกล่าวก็จะหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตร (ใบแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตออกให้) ซึ่งก็คือเลขประจำตัวในทะเบียนบ้านของเด็กที่แต่ละอำเภอหรือเขตออกให้ และจะปรากฏในบัตรประชาชนเมื่อถึงอายุต้องทำบัตรนั่นเองแต่ถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์เลขนี้ก็จะปรากฏอยู่แค่ในทะเบียนบ้านของเด็กเท่านั้น
หลักที่ 11 ถึงหลักที่ 12 หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภท หรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตร
หลักที่ 13 เป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขทั้ง 12 หลักแรก